ผลการศึกษาใหม่ที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ Cyberpsychology, Behavior, and Social Networking ระบุว่าพบความเกี่ยวข้องกันระหว่างความรุนแรงและการกระทำที่ผิดศีลธรรมในวิดิโอเกม ต่อความรู้สึกผิดและความเห็นใจของผู้เล่น
นักวิจัยได้ทำการสังเกตผู้เล่นเกม 185 คน ระหว่างการศึกษา และแบ่งผู้เล่นเหล่านี้ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกถูกจัดให้อยู่ในสถานการณ์ที่รู้สึกผิด โดยให้เล่นเป็นผู้ก่อการร้ายในเกมหรือถูกถามให้นึกถึงความทรงจำที่รู้สึกผิด และอีกกลุ่มหนึ่งถูกให้เล่นเป็นผู้รักษาความสงบแห่งสหประชาชาติ (UN peacekeeper) หรือให้นึกถึงความทรงจำที่ไม่ได้รู้สึกผิด
หลังจบการวิจัย ผู้ถูกสังเกตการณ์เหล่านี้ได้ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับศีลธรรมและวัดความรู้สึกผิด เพื่อดูระดับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของพวกเขา ผลการวิจัยออกมาว่า กลุ่มผู้เล่นที่เป็นผู้ก่อการร้ายมีระดับความรู้สึกผิดเพิ่มมากขึ้นกว่าตอนก่อนการวิจัย
ผศ. Matthew Grizzard จากมหาวิทยาลัย Buffalo หัวหน้าทีมวิจัยอธิบายว่า “เราค้นพบว่า หลังจากที่กลุ่มตัวอย่างได้เล่นเกมที่มีความรุนแรงแล้ว พวกเขารู้สึกผิด และความรู้สึกผิดนี้เชื่อมโยงไปถึงความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่มากขึ้นต่อ 2 ขอบเขตที่พวกเขากระทำไปในเกม นั่นคือ ความห่วงใย/การทำร้าย (ร่างกายและจิตใจ) และ ความยุติธรรม/การพึ่งพาอาศัยกัน”
ส่วนทางด้านของผู้เล่นที่เป็นทหารของ UN peacekeeper นั้น ถึงแม้ว่าจะกระทำการเช่นเดียวกับฝั่งของผู้ก่อการร้าย แต่ก็ไม่ได้มีความรู้สึกเช่นเดียวกับฝั่งดังกล่าว โดย Grizzard กล่าวว่า “ผู้ที่เล่นเกมที่มีความรุนแรงโดยเป็นฝ่ายผู้ก่อการร้าย มักจะพิจารณาว่าตัวละครของพวกเขาไม่ยุติธรรม มีพฤติกรรมที่รุนแรง และรู้สึกผิดมากกว่าตอนที่พวกเขากระทำพฤติกรรมเช่นเดียวกันนี้ในตอนที่เป็นฝ่ายผู้รักษาสันติภาพ”
ที่มา: Gamespot