[Mini Review] Interstellar การเดินทางผ่านห้วงอวกาศที่สุดแสนจะท้าทาย

interstellar-poster

เมื่อพูดถึงชื่อ Interstellar แฟนหนังหลายคน (โดยเฉพาะสาวก Christopher Nolan) คงตั้งหน้าตั้งตารอหนังเรื่องนี้ด้วยใจระทึกกันเป็นแน่ เพราะเป็นหนัง Sci-Fi ที่ว่าด้วยเรื่องการเดินทางระหว่างดวงดาว เพื่อค้นหาดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่เอาไว้ดำรงเผ่าพันธุ์ของหมู่มวลมนุษยชาติ ตัวหนังจะเข้าฉายในบ้านเราวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ (ก่อนอเมริกา 1 วัน)

เพื่อเป็นการโปรโมทหนัง ทางค่าย Paramount ก็เลยทำเกมขึ้นมาเพื่อตอบสนองแฟนเกมที่ชื่นชอบการเดินทางระหว่างดวงดาว โดยใช้ชื่อเกมตามชื่อหนังเลยคือ Interstellar ตัวเกมสามารถเล่นได้ทั้งจากเว็บไซต์ Interstellar Movie (เล่นผ่าน Unity Web Player) และเล่นผ่านมือถือ/แท็บเล็ต Android (ของ iOS ยังไม่มี รอไปก่อน)

บทความนี้เป็นแค่รีวิวสั้นๆ จากการที่ได้เล่นเกมนี้ไปประมาณชั่วโมงกว่าๆ แต่เนื่องจากว่าผมดันลืมแคปภาพหน้าจอตอนเล่นเกมไว้ เลยขอใช้ภาพจาก Google Play ไปแทนนะครับ -_- จริงๆ จะเรียกว่ารีวิวก็คงไม่น่าจะได้ เรียกว่าเล่นแล้วเอามาเล่าให้ฟังดีกว่า

Interstellar เป็นเกมแนว Simulation ที่ให้เราพายานอวกาศหน้าตาแบบเดียวกับที่ตัวเอกของหนังใช้ในการเดินทาง ออกไปผจญภัยผ่านดวงดาวต่างๆ ในจักรวาลโดยใช้การเดินทางผ่านรูหนอน (Worm Hole) เนื่องจากว่าเกมนี้ได้นักวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้ให้คำแนะนำในด้านวิทยาศาสตร์จากในหนังมาช่วยให้ข้อมูลในการพัฒนาเกมนี้ด้วย ก็เลยทำให้มีความสมจริงทางฟิสิกส์อยู่ค่อนข้างมาก

interstellar-game-1

ตอนเริ่มเกม ตัวเกมจะให้เราสร้างระบบสุริยะของเราขึ้นมา โดยจะมีดวงอาทิตย์กับดาวเคราะห์มาให้อยู่จำนวนหนึ่ง เราสามารถเพิ่มวงโคจร เพิ่มจำนวนดาวเคราะห์ ดาวบริวาร รวมถึงปรับขนาดของดาวแต่ละดวงได้ด้วย

interstellar-game-2

ดาวแต่ละดวงที่เราสร้างขึ้นมาก็สามารถกำหนดได้ว่าให้เป็นดาวเคราะห์แบบไหน เช่น หิน เหล็ก น้ำ ก๊าซ หรือดาวเคราะห์น้อย สามารถกำหนดขนาดและสีสันของดาวได้ รวมถึงเพิ่มดาวบริวารได้ด้วย ขนาดและประเภทของดาวก็มีผลกับวงโคจรและแรงโน้มถ่วง

interstellar-game-3

หลังจากสร้างระบบสุริยะของเราเสร็จก็ได้เวลาเอายานออกมาสำรวจ ด่านแรกของเกมจะเป็นการเดินทางไปยังรูหนอน โดยในการเดินทางนั้นต้องอาศัยแรงโน้มถ่วงของดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ต่างๆ มาใช้เป็นแรงในการเหวี่ยงยานออกไป เพื่อที่จะได้ประหยัดเชื้อเพลิง ซึ่งตรงจุดนี้ก็ต้องคำนวณดีๆ ว่าจะเคลื่อนที่ไปในทิศทางไหน เพื่อไม่ให้ยานอยู่ห่างเกินจนหลุดวงโคจรออกไป หรือเข้าใกล้เกินไปจนโดนแรงโน้มถ่วงดูดให้ยานตกลงไปบนพื้นผิวของดาว

interstellar-game-4

ในบางครั้งการเดินทางก็ต้องอาศัยแรงเหวี่ยงจากหลุมดำ (Black Hole) ซึ่งเราก็ต้องคอยควบคุมทิศทางของยานให้ผ่านกระแสแรงดึงดูดอันมหาศาลนี้ไปให้ได้

interstellar-game-5

หลังจากเสร็จสิ้นการเดินทาง เราก็สามารถเอาคะแนนที่ได้มาใช้ในการอัพเกรดตัวยานให้ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิง การควบคุม ซึ่งก็จะทำให้การเดินทางรอบต่อไปทำได้ง่ายขึ้น

จากที่ได้ลองเล่นมาคร่าวๆ เกมนี้ก็ไม่ได้มีรูปแบบการเล่นอะไรที่สลับซับซ้อนนัก สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายๆ และเล่นได้เพลินๆ แถมยังสามารถแชร์คะแนนหรือแบ่งปันระบบสุริยะที่เราสร้างขึ้นให้เพื่อนๆ ใน Facebook มาสำรวจได้ด้วย

ข้อเสียของเกมนี้คือมันไม่ค่อยมีอะไรให้เล่นมากนัก แค่เดินทางไปดาวต่างๆ และเก็บคะแนนมาอัพเกรดยาน อีกทั้งระบบควบคุมก็ยังไม่ค่อยลงตัวเท่าไหร่นัก ไม่ว่าจะเป็นแบบเล่นผ่านเว็บหรือเล่นใน Android

แต่ถึงอย่างนี้ Interstellar ก็เป็นสำหรับโปรโมทหนังที่ทำออกมาได้ดีเกมนึง ถึงแม้ความสนุกอาจจะยังไม่มากนัก แต่ก็เหมาะที่จะใช้ในการเรียนรู้ทำความเข้าใจเรื่องการเดินทางระหว่างดวงดาวแบบคร่าวๆ ก่อนไปดูหนังได้ เพื่อที่จะได้ดูหนังได้สนุกและเข้าใจมากขึ้น อีกอย่างเกมนี้ก็โหลดมาเล่นได้ฟรี และไม่มี In-App Purchase ดังนั้นใครที่สนใจก็สามารถลองโหลดมาเล่นกันดูได้ครับ

เล่นผ่านเว็บไซต์ | ดาวน์โหลดจาก Play Store | เกร็ดความรู้เพิ่มเติมเรื่อง Interstellar

Author

Bigta

เล่นเกมมาตั้งแต่อนุบาลหนึ่ง :3